วิตามินและเกลือแร่สำคัญที่ช่วยบำรุงสายตา

  • วิตามินเอ ช่วยบำรุงจอตาหรือจอประสาทตาให้ทำงานเป็นปกติ มีสุขภาพดี สามารถผลิตน้ำตาที่ใช้หล่อลื่นภายในดวงตาให้ชุ่มชื้น และช่วยยับยั้งโรคทางสายตาอื่น ๆ เช่น อาการตาบอดกลางคืน (Night Blindness) โดยช่วยปรับการมองแสงในเวลากลางคืน โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ หรือโรคต้อกระจก แหล่งที่พบวิตามินเอได้มาก เช่น แครอท มันเทศ ผักขม ตับ เนื้อไก่ เนื้อวัว ไข่ แต่ควรระมัดระวังการได้รับวิตามินเอในปริมาณที่มากเกินไปอาจเป็นโทษต่อร่างกาย จึงควรปรึกษาถึงปริมาณที่เหมาะสมกับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ โดยปริมาณทั่วไปที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ คือ 700 ไมโครกรัมในผู้ชาย และ 600 ไมโครกรัมในผู้หญิง
  • วิตามินบี 2 หรือไรโบฟลาวิน (Riboflavin) จะช่วยควบคุมปฏิกิริยาทางเคมีที่เกี่ยวข้องกับการออกซิเดชั่น (Oxidation) ที่ทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระ และการรีดักชัน (Reduction) ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ รวมไปถึงช่วยรักษาระดับของวิตามินบี 3 และวิตามินบี 6 ให้เพียงพอ การขาดวิตามินบี 2 จะทำให้เกิดโรคต้อกระจกและผิวหนังเปลี่ยนแปลงไป โดยปริมาณสำหรับผู้ใหญ่ที่แนะนำให้รับประทานต่อวัน คือ 1.3 มิลลิกรัมในผู้ชาย และ 1.1 มิลลิกรัมในผู้หญิง
  • วิตามินซี มีความสำคัญหลายอย่างต่อร่างกาย เช่น การสร้างคอลลาเจน ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมไปถึงอาจลดความเสี่ยงของโรคต้อกระจก หรือโรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ โดยแหล่งที่พบวิตามินซีไม่ได้มีเฉพาะในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวอย่างส้มหรือสตรอว์เบอร์รี แต่รวมไปถึงพริกหยวก บล็อคโคลี่ มันเทศ ซึ่งปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ คือ 90 มิลลิกรัมในผู้ชาย และ 75 มิลลิกรัมในผู้หญิง
  • วิตามินดี ส่วนใหญ่ได้มาจากการเปลี่ยนสารคอเลสเตอรอลใต้ผิวหนังที่ชื่อว่า 7-dehydrocholesterol ให้กลายเป็นวิตามินดีเมื่อผิวหนังโดนแสงแดด ซึ่งวิตามินดีมีส่วนช่วยในกระบวนการสำคัญหลายอย่างของร่างกาย เช่น เสริมความแข็งแรงของกระดูก ควบคุมระดับแคลเซียม หากร่างกายขาดวิตามินดีอาจทำให้เกิดโรคต้อกระจก อาการตาแดง (Pinkeye) โรคกระจกตาย้วยหรือโป่งพอง (Keratoconus)
  • วิตามินอี สามารถพบได้ในกระจกตาและเลนส์แก้วตาเช่นเดียวกับวิตามินซี ซึ่งอาจช่วยป้องกันโรคต้อกระจก โรคจอตาเสื่อม และช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระ ซึ่งแหล่งที่พบวิตามินอีได้มาก เช่น ถั่วชนิดต่าง ๆ ผักใบเขียว น้ำมันพืช (เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าว น้ำมันดอกคําฝอย) บล็อคโคลี่ ผักโขม ซึ่งขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ คือ 15 มิลลิกรัม
  • เกลือแร่และแร่ธาตุอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อดวงตาและเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันโรคทางดวงตา เช่น สังกะสี (Zinc) พบมากในชีส โยเกิร์ต เนื้อสัตว์สีแดง อาหารบางชนิดที่มีการเติมสังกะสีเสริมลงไป โดยปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ คือ 15-25 มิลลิกรัม หรือซีลีเนียม (Selenium) สามารถพบได้มากในข้าวและขนมปังบางชนิด ชีส ปลาทูน่า ไข่ไก่ ส่วนปริมาณที่แนะนำให้รับประทานต่อวันสำหรับผู้ใหญ่ คือ 55-70 ไมโครกรัม